สิ่งที่ต้อง “เตรียมใจ” และวิธี “เติมไฟ” ในการทำเพลง ( สำหรับ ศิลปินอิสระ หรือ ผู้เริ่มต้น )
สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นสานฝันในการมี “เพลงแรกเป็นของตัวเอง” หลายคนๆอาจเต็มไปด้วยคำถาม และ ความไม่แน่ใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
ทำเพลงไปแล้วจะมีคนฟังมั้ย ?
ทำไปแล้วจะคุ้มค่ากับที่ลงทุน ลงแรงไปรึป่าว ?
จะต้องเจอคำวิจารณ์แบบไหนบ้าง ?
วันนี้เราจะมาชวนคิดไปกับสิ่งที่ต้องเตรียมใจ และ วิธีเติมไฟ ในการสานต่อความฝันของคุณกันครับ …
” เพลงของคุณอาจจะมีคนฟังได้ตั้งแต่ 10 100 1000 …. ไปจนถึง 1000000 คน “
สำหรับการเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่มีค่ายเพลงนั้น อุปสรรคอย่างนึง คือ ไม่มีช่องทางทำให้คนได้รู้จักเพลงของคุณ ถึงแม้จะโพสลง Social Media โพสลง Streaming ต่างๆแล้ว แต่ด้วยปริมาณคอนเทนต์มหาศาลบนโลกออนไลน์ในยุคปัจจุบัน จึงมีโอกาสไม่มากนักที่ผู้คนจะเจอเพลงของคุณ
ในแง่มุมนึงการที่เพลงๆนึงจะโด่งดังเป็นที่รู้จักขึ้นมานั้น อาจจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องอยู่มากมาย ทั้งความโดดเด่นของเพลง จังหวะเวลา ชื่อเสียงของคุณ ช่องทางของคุณ หรือแม้แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่าง “โชคชะตา”
- เพลงดีๆบางเพลงอาจใช้เวลาหลายเดือน หลายปี จนกว่าจะมีชื่อเสียงขึ้นมา
- เพลงดีๆบางเพลงอาจจะไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร เพราะ ไม่มีช่องทางมากพอให้ผู้คนได้เห็นผลงาน
- เพลงดีๆบางเพลงอาจเป็นที่รู้จักมากกว่านี้ ถ้าปล่อยมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- เพลงดีๆบางเพลงอาจโด่งดังกว่านี้ ถ้าถูกร้องโดยศิลปินที่มีชื่อเสียง
แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งนึงที่เราพอจะควบคุมได้ ก็คือ “ การตั้งใจทำเพลงออกมาให้สุดความความสามารถของคุณ ”
วิธีเติมไฟ
1. ถามตัวเองว่า “ การมีเพลงของตัวเองเป็นความฝันของคุณจริงๆมั้ย ? ” ถ้าใช่อาจจะลองเริ่มจากก้าวเล็กๆก่อน เช่น ลองเขียนไอเดียเกี่ยวกับเพลงของคุณเก็บไว้ / ลองเอาไปให้นักแต่งเพลง เขียนเพลงนั้นออกมา / ลองทำ Demo อย่างง่ายๆก่อน ไม่ก็อาจจะ อัดร้องกับ Backing track กีตาร์ เปียโน แล้วลองโพสลง Social media ของคุณ
2. มองว่ามันคือ “การทดลอง” พอเราโตขึ้นความเป็นเด็กในตัวเรามักจะค่อยๆหายไปตามกาลเวลา เรามักคิดด้วยเหตุผลต่างๆมากมายกว่าจะลงมือทำอะไรซักอย่าง เราอยากจะมาชวนคิดว่า การทำเพลงนั้น ก็ถือเป็น การทดลองอย่างนึง ที่จะได้ลองถ่ายทอดความรู้สึกของคุณ ผสมผสานไอเดียแปลกๆใหม่ๆลงไป ได้แสดงความเป็นตัวคุณ รสนิยมทางดนตรีของคุณ เมื่อคุณได้เริ่มลงมือแล้ว คุณอาจจะได้รับประสบการณ์อะไรใหม่ๆแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
3. ถ้าคุณรู้สึก Fail หลังจากปล่อยเพลงแล้วไม่มีคนฟัง ให้ลองถามกับตัวเองอีกครั้งว่า
“ ในตอนที่ทำเพลง คุณมีความสุขกับมันมั้ย ? ” ถ้าใช่ ได้เวลาที่คุณจะลองกลับไปทดลองไอเดียของคุณอีกครั้งแล้วครับ
4. ลองเปลี่ยนรูปแบบงานที่คุณทำ และ ไปร่วมงานกับคนอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นงาน Collab หรือ งาน Commercial ต่างๆ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่พาคุณไปพบโอกาสใหม่ๆได้เช่นกัน
” เพลงของคุณอาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุน ลงแรงไป “
เราเชื่อว่าหลายๆท่านที่เริ่มทำเพลง คงแอบหวังเล็กๆว่า เมื่อเพลงของตนเองเป็นที่รู้จักแล้ว อาจจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ไม่มากก็น้อย แต่ในความเป็นจริงนั้น การที่เพลงๆนึงจะสร้างรายได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นศิลปินอิสระที่เริ่มทำเพลงครั้งแรก เพลงของคุณอาจจะต้องมียอดวิวใน Youtube หรือ ยอด Streaming ที่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน หรือ เพลงของคุณอาจจะต้องมีชื่อเสียงมากพอที่จะทำให้มีคนจ้างคุณไปแสดงโชว์ ดังนั้น ถ้าคุณกำลังคิดถึงในแง่ของ “ผลตอบแทน” เราอยากให้คุณเผื่อใจไว้ในระดับนึง
วิธีเติมไฟ
1. ถ้าคุณไม่กล้าลงมือทำเพลง เพียงเพราะ กลัวจะให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า เราอยากจะชวนคิดในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ อยากให้คุณลองถามตัวเองว่า “ คุณเต็มใจ #ใช้เงินและ #ใช้เวลามากแค่ไหน ไปกับการทำเพลงของคุณ ” เพราะนั่นจะทำให้คุณวางแผนให้กับเส้นทางความฝันของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ก้าวใหญ่เกินไป เมื่อคุณล้มลงไป อาจทำให้หมดไฟได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การเริ่มทำจากสิ่งที่เหมาะกับตัวคุณมากที่สุด อาจจะช่วยทำให้คุณกล้าลงมือทำมากขึ้นครับ
2. ถ้าคุณยังไม่กล้าลงมือทำเพลงแรกของตัวเอง เพราะ เหตุผลเรื่อง เงิน หรือ เวลา อยากให้ลองตัดสินใจเลือกว่า “ คุณจะใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิงหลักในการเติมฝันของคุณ ”
ถ้าเลือกใช้เวลา : อาจจะลองทุ่มเทกับการศึกษาหาความรู้ตัวเองด้วยตัวเองก่อน เริ่มจากสิ่งที่คุณถนัด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเนื้อเพลง การแต่งทำนอง การทำดนตรี หรือ อื่นๆ เมื่อคุณเริ่มทำมันได้ อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
ถ้าเลือกใช้เงิน : หลายๆคนอาจไม่มีเวลา ด้วยภาระหน้าที่ต่างๆในชีวิต แต่ก็ยังอยากลองสานฝันของตัวเองดูซักครั้ง เป็นเหตุผลให้คุณอาจจะต้องจ้างทีมงานที่เชี่ยวชาญในการทำเพลงให้กับคุณ ดังนั้น คุณจึงควรลองมองหาทีมงานที่มีเรทราคา และ คุณภาพงานตรงตามความต้องการของคุณอาจจะเริ่มจากค่อยๆเก็บเงินจนครบ Budget ที่ต้องการ แล้วเริ่มทำดู
ที่สำคัญ คือ “ เริ่มจากก้าวเล็กๆ ” ที่ไม่ทำให้คุณเดือดร้อน
#3 – คำวิจารณ์
” คุณอาจต้องเจอกับทั้ง คำชม คำวิจารณ์หลากหลายรูปแบบ “
เมื่อคุณปล่อยเพลงลงไปในช่องทางต่างๆแล้ว คนฟังอาจจะมีมุมมองต่อเพลงของคุณที่แตกต่างกันไป
คำชมจากคนที่คุณรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน แฟน พ่อแม่ พี่น้องหลายๆ ครั้งคำชมในรูปแบบนี้ อาจจะเป็นคำชมที่ผสมด้วยความเกรงใจ และ อยากให้กำลังใจคุณ ซึ่งก็มีข้อดีที่ทำให้คุณรู้สึกภูมิใจในงานของตัวเอง และ อยากลงมือทำตามความฝันต่อไป
คำชมที่จริงใจ และ ตรงไปตรงมา หลายๆครั้ง มักจะมาจาก อาจารย์ของคุณ หรือ เพื่อนๆของคุณที่สนิทกันมากพอที่จะกล้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา คำชมรูปแบบนี้ น่าจะมีประโยชน์มากที่สุด เพราะจะทำให้คุณเห็นถึงข้อดี และ ข้อเสีย ในผลงานของคุณ และ พัฒนาต่อไป
คำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ มักมาให้รูปแบบของคำพูดที่บั่นทอนกำลังใจ แต่ไม่ได้แฝงแง่มุมใดๆที่มีประโยชน์ ซึ่งเมื่อเพลงอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด เพียงแต่เราต้องฟังคำวิจารณ์เหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน
วิธีเติมไฟ
1.ขอบคุณ และ ยินดีไปกับคำชื่นชม
2.ลดความคาดหวังว่าการเริ่มต้นของคุณจะต้องสมบูรณ์แบบ ยิ่งคุณคาดหวังไว้สูงเท่าไหร่ หรือ มั่นใจในงานของตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสที่คุณจะเสียความมั่นใจได้ง่ายเมื่อโดนคำวิจารณ์
3.เปิดใจกว้างต่อ #คำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์
เพราะมันคือสิ่งที่จะช่วยทำให้คุณพัฒนาไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม